ถอดรหัสความสำเร็จหนังไต้หวันกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสนุกป่วนโลก
สัมภาษณ์สุดexclusive สองผู้กำกับ เฉิงเหว่ยหาว (Cheng Wei-hao) จากเรื่อง Mary My Dead Body และ อินเจิ้นหาว (Yin Chen-hao) จากเรื่อง GG Precinct รวมถึงโปรดิวเซอร์
ถอดรหัสความสำเร็จหนังไต้หวันกับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
ความสนุกป่วนโลก
“ซองแดงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมตำนานความเชื่อในเรื่องการแต่งงานกับผี แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการนำเอาวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมมาผสมกับกระแสในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราเลือกหยิบเอากระแส LGBTQ+ มาเล่า”
ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไต้หวันกำลังหวนกลับมามีกระแสจนกลายเป็นที่สนใจระดับโลกอีกครั้ง เพราะหลังจากภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง“Marry My Dead Body (แต่งงานกับผี)” ออกฉายนอกจากจะทำให้วงการภาพยนตร์ในประเทศกลับมาคึกคักแล้วก็ยังปั่นป่วนความสนุกนี้ไปทั่วโลกอีกด้วย แถมยังเรียกได้ว่าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัล ตลอดจนทำให้เกิดการสร้างซีรีส์ต่อยอดจนกลายเป็น “GG Precinct (คดีป่วนเขตเจิ้งกัง)” ซึ่งก็แน่นอนว่าสร้างกระแสตอบรับที่ดีไปทั่วโลกตามกัน
ในโอกาสเทศกาลภาพยนตร์ Taiwan Movie Week 2024 ปีนี้นอกจากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องจะเข้าร่วมฉายในเทศกาลแล้วเรายังมีโอกาสได้ร่วมสนทนากับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้อย่าง จินไป่หลุน (Jin Pai-lunn) โปรดิวเซอร์สาวคนเก่งที่มาพร้อมกับ เฉิงเหว่ยหาว (Cheng Wei-hao) ผู้กำกับฝีมือฉมังของ Marry My Dead Body กับ GG Precinct และ ยินเจิ้นหาว (Yin Chen-hao) ผู้กำกับฝีมือดีอีกคนที่เข้ามาเสริมทัพให้กับ GG Precinct ซึ่งเหล่าพลังคลื่นลูกใหม่นี้กำลังตั้งใจสร้างแรงกระเพื่อมให้กระแสไต้หวันกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง
เล่าถึงความสำเร็จครั้งนี้ให้ฟังหน่อย
จินไป่หลุน : ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมบังเทิงไต้หวันซบเซามานานมาก คนไต้หวันเองก็ชอบดูหนัง Hollywood ดูซีรียส์ต่างประเทศ รวมถึงชอบหนังผีของไทยมาก ๆ พอ Marry My Dead Body ออกฉายดันได้กระแสตอบรับในประเทศที่ดีมาก รวมถึงได้รับ Feedback ดี ๆ เยอะ คนดูกันทุกเพศทุกวัย อย่างมีผู้ปกครองคนนึงส่งข้อความมาหาเราบอกว่าขอบคุณมาก ๆ ที่ทำให้เขาเปิดรับเรื่อง LGBTQ+ มากขึ้น กล้าคุยกับลูกตัวเองในเรื่องนี้ เข้าใจกันมากขึ้น แล้วก็ได้รู้มาว่าลูกที่เป็น LGBTQ+ หลายคนก็เริ่มหันกลับมาคุยกับครอบครัวตัวเอง ยอมรับกันมากขึ้น มันช่วยทำลายช่องว่างระหว่างเจนเนอร์เรชั่นได้ดีเลย ทำให้สังคมเปิดใจกันมากขึ้นด้วยค่ะ
ยินเจิ้นหาว : อีก Feedback ที่ดีมาก ๆ ก็คือทุกคนชอบทีมตำรวจแก๊งนี้มาก ถึงตัวละครเยอะแต่ทุกคนก็จำคาแรคเตอร์แต่ละคนได้หมด เห็นปุ๊บนึกออกเลยว่า คนนั้นเหมือนเพื่อนเราเลย คนนี้เหมือนคนข้างบ้าง คนนั่นเหมือนพ่อของเพื่อน คือมันใกล้เคียงกับคนในสังคมจริง ๆ แล้วก็อยู่ใกล้ตัว ซึ่งตอนเราสร้างตัวละครพวกนี้ขึ้นมาก็พยายามใส่รายละเอียดให้เป็นคนในสังคมจริง ๆ พอดูแล้วมันเลยเชื่อ สัมผัสได้ และนั่นก็เลยทำให้คนดูสร้างความเชื่อมโยงกับผลงานและประทับใจได้ง่าย
ทำไมถึงเลือกหยิบเอาไอเดีย “ซองแดง” มาเป็นแกนของการเล่าเรื่อง
จินไป่หลุน : อันที่จริงแล้วไอเดียนี้ได้มาจากการประกวดค่ะ พอดีตอนนั้นในไต้หวันมีการจัดประกวดหาประเด็นการเล่าเรื่องแบบใหม่ ๆ ขึ้น ตัวดิฉันเองก็ได้มีโอกาสไปเป็นหนึ่งในกรรมการครั้งนั้นด้วย มีคนส่งเข้ามาเยอะมาก อ่านไปประมาณ 300 กว่าเรื่องก็เห็นไอเดียซองแดงนี้โดดเด่นสุดเลย จริง ๆ ซองแดงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมตำนานความเชื่อในเรื่องการแต่งงานกับผี แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการนำเอาวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมมาผสมกับกระแสในยุคปัจจุบัน ซึ่งเราเลือกหยิบเอากระแส LGBTQ+ มาเล่า เอาสองสิ่งมารวมกันอย่างไรแล้วทำให้มันเกิดความสนุก ทำให้วัฒนธรรมและความเชื่อต่างขั้วเกิดการปะทะกัน ความใกล้ตัวที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์คนดูได้ง่ายนี่แหละคือเคล็ดลับหนึ่งของความสำเร็จ
ด้วยความที่ GG Precinct เป็นเสมือนภาคต่อของ Marry My Dead Body ในตอนทำบทภาพยนตร์นั้นเขียนแบบยาวต่อเนื่องไปเลยทั้งสองเรื่อง หรือเขียนทีละเรื่องแยกกัน
เฉิงเหว่ยหาว : จริงๆ เขียนหนัง Marry My Dead Body ก่อนครับ ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียทำภาคต่ออะไร แต่พอตัดต่อเสร็จเรียบร้อยแล้วถึงมารู้สึกว่า แก๊งตำรวจดูน่าสนใจมากเลยนะ เลยอยากเอาไปพัฒนาต่อ ผมก็เลยไปชวนยินเจิ้นหาวกับนักเขียนอีกคนมาช่วยกันเขียนบทซีรีส์ภาคต่อขึ้นแล้วก็ชวนเขามาช่วยกันกำกับด้วย ก็เลยเกิดเป็นเรื่อง GG Precinct ครับ แต่จะว่าภาคต่อก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ถึงแม้จะใช้ตัวละครเดิมเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง ใช้สถานที่และช่วงเวลาต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน แต่แก่นเรื่อง เนื้อหา และวิธีนำเสนอก็ต่างกันเลย
ในส่วนของเรื่อง GG Precinct ทำไมจึงหยิบเอา “สำนวนจีน” มาเป็นคอนเซ็ปต์ในการเล่าเรื่อง
ยินเจิ้นหาว : ตอนที่คิดบทเรื่องนี้รู้สึกว่าอยากจะทำหนังฆาตรกรรมแนวสืบสวนสอบสวนแต่ให้มีเอกลักษณ์แบบฝั่งตะวันออกครับ อย่างฝั่งตะวันตกก็เคยทำหนังฆาตรกรรมที่เชื่อมโยงไปถึงคัมภีร์ไบเบิลใช่ไหมครับ แล้วฝั่งตะวันออกล่ะควรเป็นอะไรดี เราก็เลยลองนึกย้อนกลับไปแล้วพบว่าคนไต้หวันน่าจะเคยผ่านการเรียนเรื่องสุภาษิตจีนกันมาแทบทุกคน เรามีพจนานุกรมสุภาษิต เคยอ่าน เคยท่อง เคยฝึกเขียน เคยสอบ แล้วก็ต้องเคยเขียนผิดกันแน่ ๆ ก็เลยรู้สึกว่าอยากลองเอาสิ่งนี้มาต่อยอดการเขียนบท พัฒนาให้เป็นโมทีฟของเรื่องแบบสไตล์ตะวันออกดูบ้าง
แล้วมีเทคนิคการตีความหรือแปลง “สำนวนจีน” ให้เป็นการฆาตรกรรมแต่ละคดีอย่างไร
ยินเจิ้นหาว : มันเป็นเรื่องที่ยากมากครับ เราเรียกประชุมทีมแล้วมีไวท์บอร์ดอันใหญ่มาตั้ง ระดมสมองช่วยกันคิดและเลือกสำนวนต่าง ๆ ออกมาเยอะมาก แล้วเราก็จะมาดูกันว่าสำนวนไหนที่คนมักใช้ผิดหรือเขียนผิดกันบ่อย เพราะในเรื่องจุดนี้แหละที่เราใช้เป็นเหตุแห่งการฆาตรกรรม แต่ถึงอย่างนั้นสำนวนต่าง ๆ มันก็ยังเยอะอยู่ดี (หัวเราะ) ทีนี้เราก็เลยจะมาดูกันว่าสำนวนไหนพอจะสร้างเป็นภาพออกมาให้เห็นเป็นซีนถ่ายทำได้บ้าง และออกมาเป็นภาพแบบไหน บางสำนวนตีความเกี่ยวกับอาหาร บางสำนวนตีความเป็นอวัยวะ อะไรทำนองนี้ จริง ๆ เราชอบกันเยอะมาก แต่ว่าบางอันก็ดูโหดเกินไป หรือบางอันอลังการจนงบสูงเกินไปก็ต้องตัดออก จนกระทั่งเหลือสำนวนที่เหมาะสมกับการถ่ายทำและเล่าเรื่องได้ดีที่สุด
เรื่อง Marry My Dead Body และ GG Precinct สื่อสารแตกต่างกันอย่างไร
เฉิงเหว่ยหาว : ถึงแม้ดูผิวเผินจะเหมือนกัน เพราะเป็นแก๊งตัวละครกลุ่มเดียวกัน แต่สองเรื่องนี้ก็สื่อสารเนื้อหาแตกต่างกันชัดเจน สิ่งที่สื่อใน Marry My Dead Body ค่อนข้างดูนามธรรม อิงกับเรื่องเหนือธรรมชาติและวัฒนธรรม เน้นเรื่องความสัมพันธ์ ขณะที่ GG Precinct ดูเป็นรูปธรรมมากกว่า เน้นข้อเท็จจริง รายละเอียดการสืบสวน มีเหตุและผล รวมถึงมุกตลกในเรื่องก็เน้นในมุมมองและวิธีการที่ต่างกัน อีกเรื่องเป็นภาพยนตร์ตอนเดียวจบ อีกเรื่องเป็นซีรีส์หลายตอน ประสบการณ์การของคนดูก็ต่างกัน เราก็เลยตั้งใจทำให้ทั้งสองเรื่องนี้มีรายละเอียดที่ต่างกันด้วย
มีแผนจะต่อยอดคอนเซ็ปต์นี้ออกไปเป็นเรื่องอื่น ๆ อีกหรือเปล่า
จินไป่หลุน : ก็เคยคุยกันอยู่เหมือนกันค่ะ เพราะผลตอบรับมันดีมาก ตัวแก็งตำรวจก็ยังคงเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ คนรักตัวละครกลุ่มนี้มากด้วย ก็อาจจะมีไอเดียแบบว่าบินมาสืบคดีที่เมืองไทยบ้างก็ได้นะ (หัวเราะ) คือมันมีแนวโน้มน่าสนใจ แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้คุยรายละเอียดกันจริงจังเท่าไร
สไตล์การกำกับภาพยนตร์ของแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง
เฉิงเหว่ยหาว : ผมชอบสไตล์หนังระทึกขวัญ (Thriller) แนวสืบสวนสอบสวนมาตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นอารมณ์หนังผีนิด ๆ น่ากลัวหน่อย ๆ จะชอบมาก ก็ไม่รู้ว่านี่เป็นซิกเนเจอร์ของเราหรือเปล่า แต่ว่าเป็นสิ่งที่เราชอบแล้วก็ทำอยู่เสมอ
ยินเจิ้นหาว : สไตล์ของผมอาจจะไม่ได้พูดถึงประเภทของหนัง แต่จะเป็นสไตล์การกำกับของผมมากกว่า คือผมจะชอบการเก็บรายละเอียด ใส่ดีเทลลงไปในตัวละครทุกตัว ไม่ใช่ตัวหลักก็เก็บรายละเอียดหมด ทั้งภายในและภายนอกของตัวละคร เพื่อทำให้ตัวละครมีมิติ แล้วพอมีบทเชื่อมต่อกับตัวละครตัวอื่นก็จะทำให้หนังดูมีมิติลึกขึ้น คนดูเชื่อมากขึ้น อินกับตัวละครได้ง่ายขึ้น ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ส่วนใหญ่แล้วมันก็คือข้อมูลที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนนี่แหละครับ
เคล็ดลับในการทำภาพยนตร์แนวตลกขบขัน (Comedy) ของผู้กำกับแต่ละคนคืออะไร
เฉิงเหว่ยหาว : สำหรับผมถ้าจะทำหนังตลกมันต้องมีความแตกต่างกันแบบสุดขั้วอยู่ในเรื่อง อย่างใน Marry My Dead Body ก็จะมีตัวละครนึงที่แมนมาก แล้วอีกคนก็จะแบบเกย์ไปเลย พอสองคาแรคเตอร์นี้ต้องมาอยู่ด้วยกันเนี้ยะมันก็จะเกิดเรื่องราวอลหม่านขึ้นแน่นอน ความแตกต่างกันสุดขั้วนี่แหละที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของความฮา
ยินเจิ้นหาว : สำหรับผมตัวละครจะต้องเป็นคนประหลาด หรือไม่เหมือนใคร คนที่มีความคิดประหลาดแล้วอยากได้สิ่งหนึ่งมาก แต่พยามแล้วก็คว้ามาไม่ได้สักที ทีนี้แหละมันก็จะทำให้เกิดความพยายามทำให้ได้ไม่ว่าจะวิธีใด ตรงนี้มันก็จะเริ่มมีวิธีประหลาด ๆ แปลก ๆ เกิดขึ้นได้ ซึ่งนั่นสร้างให้เกิดความสนุกได้
แต่ละคนประทับใจตัวละครไหนในสองเรื่องนี้มากที่สุด และคิดว่าใครเหมือนกับตัวเรามากที่สุด
จินไป่หลุน : ตำรวจหญิงหลินซู่ชิง (Lin Tzu-ching) ค่ะ เพราะในชีวิตจริงฉันเป็นโปรดิวเซอร์ใช่ไหมคะ ก็เหมือนเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องคอยจัดการโน่นนี่ บริหารคนอะไรแบบนี้ ปวดหัวเหมือนเธอเลย (หัวเราะ) เราสัมผัสได้ว่าหัวหน้าตำรวจผู้หญิงคนนี้ต้องแกร่ง ต้องพยายามประคับประคองทีมให้ไปให้รอดให้ได้ เห็นตัวละครนี้แล้วก็ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้เป็นหัวหน้าที่ดี บริหารให้เป็น อีกอย่างเห็นบทนี้แล้วเข้าใจเลยกับคำว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว (หัวเราะ)
เฉิงเหว่ยหาว : ผมว่าผมเหมือนอู๋หมิงฮั่น (Wu Ming-han) นะ ผู้ชายแมน ๆ พูดอะไรตรง ๆ บางทีก็พูดอะไรไม่คิด พูดเสร็จปุ๊บก็รู้สึกว่า โอ้ย! ไม่น่าพูดออกไปเลย แต่มันไม่ทันแล้วไง (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันก็เหมือนนิสัยของผู้ชายทั่วไปนั่นแหละ ที่บางทีไม่คิดอะไรเยอะ ไม่คิดเล็กคิดน้อย
ยินเจิ้นหาว : ของผมเหมือนหัวหน้าสำนักงานตำรวจชางยุงคัง (Chang Yung-kang) คือเป็นคนรักสงบ ชอบอะไรเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ชอบการขัดแย้งกัน อย่างถ้าเกิดสองคนนี้ (อู๋หมิงฮั่น กับ หลินซู่ชิง) ทะเลาะกัน ก็จะไม่ยุ่ง คือเดินหนีเลย ช่างมัน เคลียร์กันเอง บายจ้า (หัวเราะ)
โปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับที่ดีควรเป็นอย่างไร
จินไป่หลุน : การเป็นโปรดิวเซอร์คือการทำงานกับคน เจอคนมากมายหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่นักแสดง ทีมงาน ไปจนถึงเซลส์ ดิสทริบิวเตอร์ ผู้บริหาร และอีกมากมาย ในการทำหนังแต่ละเรื่องใช้เวลานานมาก จากวันแรกจะถึงวันสุดท้ายโปรดิวเซอร์จะต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันกับเราให้ได้ เข้าใจตรงกัน ซึ่งอันนี้แหละคือสิ่งที่ยากที่สุด เพราะฉะนั้นการเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีนอกจากจะต้องบริหารให้ดีแล้วก็ยังต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีด้วย เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
เฉิงเหว่ยหาว : สำหรับผมก็เป็นเรื่องเดียวกันเลยครับคือการสื่อสาร ผู้กำกับที่ดีก็จะต้องสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในภาพที่เราเห็นให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นตากล้อง ช่างไฟ นักแสดง หรือตำแหน่งใด ๆ ที่ทำงานกับเราก็ต้องเห็นภาพเหมือนกันหมด มีผู้ทรงอิทธิพลในวงการภาพยนตร์ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่าหนังก็คือเรื่องของคน ประมาณ 80% เราอยู่กับคน ดีลกับคนโน้นคนนี้เต็มไปหมด ที่เหลืออีก 20% มันถึงจะเป็นเรื่องของเนื้อหา
ยินเจิ้นหาว : ในมุมมองผมการเป็นผู้กำกับที่ดีต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องราวที่อยู่ในหัวให้คนอื่นฟังและต้องการถ่ายทอดเรื่องราวในหัวออกมาให้ทุกคนเห็นให้ได้ ถ้าวันไหนคุณเบื่อที่จะเล่า หมดไฟที่จะทำ วันนั้นคุณก็เป็นผู้กำกับไม่ได้
เสน่ห์ของภาพยนตร์ไต้หวันในมุมมองของแต่ละท่านคืออะไร
จินไป่หลุน : ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหนังไต้หวันซบเซามาก ตอนนั้นพวกเราเหมือนสตาร์ทอัพตั้งทีมกันขึ้นมาแล้วมีเป้าหมายว่าถ้าเราจะทำหนังไต้หวันให้มันดีจะต้องทำอย่างไร อันดับแรกคือต้องเรียนรู้ก่อนว่าความสำเร็จของหนังต่างประเทศที่เข้ามาตีตลาดไต้หวันอยู่ตรงไหน เสร็จแล้วจะต้องทำอย่างไรเพื่อพัฒนาหนังไต้หวันให้เข้าถึงคนไต้หวันให้ได้ ฉะนั้นที่ผ่านมาเราเลยลองทำทุกอย่าง ก็มีทั้งล้มเหลวและประสบความสำเร็จ ทีนี้ถ้าถามว่าเสน่ห์ของหนังไต้หวันคืออะไร ในมุมองของดิฉันก็อยากจะตอบว่าคือการพยายามเรียนรู้และพัฒนาหนังให้ครองใจคน มีมิติใหม่ ๆ น่าสนใจอยู่เสมอค่ะ
เฉิงเหว่ยหาว : สำหรับผมอุตสาหกรรมหนังไต้หวันแบ่งออกเป็นสองยุค ยุคแรกเป็นสมัยที่ผู้กำกับรุ่นเก่าประสบความสำเร็จมากมาย ส่วนยุคที่สองเป็นกลุ่มผู้กำกับรุ่นใหม่ซึ่งเติบโตมาภายใต้ความสำเร็จนั้นและกำลังหาเส้นทางเพื่อสร้างความสำเร็จในรูปแบบของตัวเองบ้าง ถ้าถามว่าตอนนี้หนังไต้หวันมีความเป็นเอกลักษณ์หรือเสน่ห์ของหนังไต้หวันคืออะไร ผมไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน แต่ผมเชื่อว่าหนังไต้หวันมีเสน่ห์ และผมจะทำหนังไต้หวันที่ดึงดูดใจต่อไปเรื่อย ๆ
ยินเจิ้นหาว : ผมมองว่าเสน่ห์ของหนังไต้หวันคือการที่ทุกคนตั้งใจทำงาน ร่วมมือลงแรงกันทำอย่างเต็มที่ และมีเป้าหมายอยากให้หนังประสบความสำเร็จเหมือนกัน ในมุมมองผม เสน่ห์ไม่ใช่เรื่องของประเภทหรือแนวหนัง แต่มันคือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหนังทุกคน มันทำให้เกิดการหลอมรวมของหลากหลายแนวคิด นี่แหละคือเสน่ห์ของหนังไต้หวันที่ไม่ได้ถูกตีกรอบอยู่แค่ในความคิดใดความคิดหนึ่ง
วางเป้าหมายในอนาคตของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง
จินไป่หลุน : สำหรับฉัน 10 ปีที่ผ่านมามันคือการเรียนรู้ความสำเร็จของหนังชาติต่าง ๆ แต่อีก 10 ปีต่อไปจากนี้มันคือเวลาของการสร้างความสำเร็จในรูปแบบของเรา วันนี้เราประสบความสำเร็จที่คนไต้หวันเริ่มยอมรับเราแล้ว ต่อไปนี้ก็อยากจะทำให้คนทั่วโลกเปิดใจดูหนังไต้หวันมากขึ้นและยอมรับพวกเราบ้างค่ะ
เฉิงเหว่ยหาว : ในฐานะผู้กำกับผมก็อยากจะทำหนังให้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นครับ ต่อจากนี้คงมองว่าหนังแนวไหนที่ยังไม่เคยทำก็อยากจะลองกำกับดูบ้าง ไม่ได้จำกัดแค่สิ่งที่ตัวเองทำได้ดีอยู่แล้ว ตั้งใจอยากพยามลองทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ยินเจิ้นหาว : ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเก็บรายละเอียดมาก ก็เลยอยากจะทำหนังที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงตัวตนไต้หวันออกไปให้ต่างชาติได้รับรู้ อยากทำหนังที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ทันทีว่านี่แหละคือหนังไต้หวัน หนังแบบนี้มีไต้หวันเท่านั้นที่ทำได้
ถึงแม้เทศกาลภาพยนตร์ Taiwan Movie Week 2024 ในปีนี้จะจบลงและผ่านพ้นไปด้วยดี แต่สำหรับใครที่พลาดชมหรืออยากกลับไปสัมผัสความประทับใจของ Marry My Dead Body กับ GG Precinct กันอีกรอบก็สามารถแวะไปสตรีมบน Netflix กันได้เลย ส่วนใครที่กำลังรอลุ้นเวอร์ชั่นภาษาไทยก็คงต้องขอแสดงความยินดีด้วยเช่นกันเพราะตอนนี้ทาง GDH เพิ่งออกมาประกาศว่าจะนำภาพยนตร์เรื่อง Marry My Dead Body นี้มารีเมคเป็นเวอร์ชั่นไทยในชื่อเรื่อง “ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope)” ที่ได้ บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ และ พีพี-กฤษฏ์ มาแสดงนำร่วมกัน แถมยังได้ผู้กำกับดังอย่าง คุณโต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล มาขึ้นแท่นเป็นโปรดิวเซอร์ ตลอดจนได้ คุณหมู-ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับฝีมือดีมากำกับเรื่องนี้ให้ด้วย เตรียมรอสนุกกับการตีความในแบบไทย ๆ กันได้เลย
บทความจากความร่วมมือระหว่างเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวันและทีมBAC
MORE STORIES
ทศวรรษแห่งสไตล์: สำรวจมรดกแฟชั่นของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
โดย ไอน่า สาริตา สวาร์ตซ์
วิธีฉลองคริสต์มาสแบบชาวสแกนดิเนเวีย
โดย ไอน่า สาริตา สวาร์ตซ์
คุณกบ ทรงสิทธิ์ กับชีวิต ศิลปะ และมนต์เสน่ห์ของละครเพลง
โดย ไอน่า สริตา สวอร์ทล์
การสร้างสรรค์นวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนจากการใช้ “ดิน”
โดย ดร. ขจรศักต์ นาคปาน
Bangkok with Elle
Elle
Photo Essay BAC x RPST
โดย RPST และ BAC EDITORIAL