From Nomad to Nowhere
ปรัชญ์ พิมานแมน
บทความนิทรรศการโดย ธัญชนก เบญจจินดา
แปลภาษาไทยโดย ทีทัช หงษ์คงคา
นิทรรศการ From Nomad to Nowhere นำเสนอผลกระทบของการแทรกแซงจากระบบทุนนิยมต่อความสัมพันธ์ของชุมชนชาวประมงที่เชื่อมโยงแน่นแฟ้นกับผืนน้ำและท้องทะเล ในพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยบริเวณปากแม่น้ำบางนราที่ไหลมาบรรจบกับอ่าวไทย พื้นที่ปากแม่น้ำแห่งนี้มีหมู่บ้านชาวประมงตั้งอยู่ที่ใจกลางจังหวัดนราธิวาส บรรพบุรุษของผู้คนที่อาศัยบนพื้นที่แห่งนี้ คือเหล่าคนทะเลที่เคยต่างพเนจรไปตามหมู่เกาะและปากแม่น้ำต่าง ๆ วิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นผูกพันอยู่กับธรรมชาติและทะเล ต่อมาจากครอบครัวชาวประมงไม่กี่ครัวเรือน จนเกิดการขยายตัวของเมืองและการขยายอาณาเขตด้วยการถมที่ ก่อให้เกิดข้อขัดแย้งในการอยู่อาศัยและขาดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
นอกเหนือจากผลงานในเชิงวัตถุ ปรัชญ์ สร้างสารคดีเพื่อสำรวจการกัดเซาะทั้งทางกายภาพและในเชิงวัฒนธรรม สารคดีบันทึกภาพเรือขุดทรายและกำแพงชายฝั่งขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะ แต่ขณะเดียวกันก็จำกัดการเข้าเทียบท่าของเรือในพื้นที่ กำแพงกันคลื่นที่ก่อเป็นโครงสร้างแข็งแรงขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่มีความลื่นไหลทางระบบนิเวศ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อธรรมชาติ กลายเป็นการกัดเซาะความสมดุลที่เคยมีอยู่ระหว่างแผ่นดิน ทะเล และผู้คน
ผลงานศิลปะของปรัชญ์ เป็นตัวแทนอนุสรณ์สถานของสิ่งที่สูญเสียไป และเป็นการเรียกร้องให้ตระหนักถึงผลกระทบอันแสนเปราะบาง ผ่านการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่ถูกทิ้งขว้างและความทรงจำที่ถูกละเลย ศิลปินสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของชุมชนในการรักษาแบบแผนวิถีชีวิต ท่ามกลางกระแสของทุนนิยม ผลงานชุดนี้จึงเป็นเครื่องย้ำเตือนถึงสภาวะที่ไม่แน่นอนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่ภูมิทัศน์ของนราธิวาสเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของคนทะเลและประเพณีทางทะเล แม้จะจืดจางลงเกินกว่าจะควบคุมได้ แต่ร่องรอยจากวัสดุที่ฝากไว้และความทรงจำของวัฒนธรรมของพวกเขายังคงอยู่ แม้ว่าโลกโดยรอบจะเปลี่ยนไปจนแทบจะจำไม่ได้เลยก็ตาม
information provided by event organizer