แมตดอท อาร์ต เซนเตอร์ เปิดตัวคอลเลคชันภาพพิมพ์แกะไม้โบราณจากประเทศอินเดีย จารึกเรื่องราวมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติอย่าง มหาภารตะ และ รามายณะ ฝีมือการสร้างสรรค์โดยช่างพิมพ์ชาวเบงกาลี ในรูปแบบของภาพประกอบบนหน้าหนังสือภาพเล่าเรื่อง จากการคัดสรรโดยภัณฑารักษ์ โจตีร์มอย ภัทชาร์ยา (Jyotirmoy Bhattacharya)
ในช่วงการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ การมาถึงของแท่นพิมพ์ในศตวรรษที่ 18 ได้ปฏิวัติรูปแบบการสื่อสารครั้งใหญ่ของอินเดีย จากต้นฉบับตัวเขียนด้วยลายมือไปสู่การพิมพ์หนังสือ ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 หนังสือภาพได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยภาพพิมพ์แกะไม้มักถูกใช้เพื่อเพิ่มบริบทเชิงภาพให้กับการเล่าเรื่อง สอดคล้องกับการก่อตั้งโรงเรียนสอนศิลปะของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2397 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางศิลปะแบบยุโรป ได้นำการศึกษาศิลปะอย่างเป็นระบบมาสู่เบงกอล เหล่านักเรียนได้รับการฝึกฝนในด้านการแกะสลัก ภาพพิมพ์หิน และการวาดภาพประกอบ ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของการตีพิมพ์หนังสือภาพ
ภาพพิมพ์แกะไม้ปราศจากนามผู้สร้างสรรค์เหล่านี้ แสดงให้เห็นทักษะอันน่าประทับใจ เป็นส่วนผสมอันลงตัวของเทคนิคภาพพิมพ์แบบยุโรปและปกรณัมอินเดียโบราณ จากต้นฉบับภาษาสันสกฤต สู่ภาษาท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง การปะทะประสานระหว่างเรื่องราวดั้งเดิมของอินเดีย และเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ได้วางรากฐานให้กับอัตลักษณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรมของเบงกอลที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
‘มหากาพย์จารึก: รามายณะและมหาภารตะบนภาพพิมพ์เบงกอลยุคต้น’ เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2568 ณ แมตดอท อาร์ต เซนเตอร์ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โดยจะมีพิธีเปิดนิทรรศการในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม เวลา 18.00 น.
information provided by event organizer