ผ่านเข้าสู่ช่วงปี 2025 เป็นที่เรียบร้อย หลายคนน่าจะกำลังเริ่มลงมือทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เช่นเดียวกับเรา ‘หอศิลปกรุงเทพฯ’ หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า ‘BACC’ ที่ในปีนี้ได้ปักหมุดหมายไว้แล้ว และอยากนำเสนอให้เพื่อนบ้านผู้รักในงานศิลปะได้รับรู้ เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยเตรียมตัว
โดยตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน หอศิลปกรุงเทพฯ ทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้ทางศิลปะแก่นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป พร้อมกับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิดหน้าชูตาให้กับเมืองหลวงของประเทศไทย ที่คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจากทั่วทุกสารทิศ โดยมี ‘ศิลปะร่วมสมัย’ เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไม่ว่าจะกิจกรรมด้านทัศนศิลป์ วรรณกรรม การแสดง ดนตรี ภาพยนตร์ จนได้รับการยอมรับไปทั่วภูมิภาคตะวันตกและภูมิภาคเอเชีย
เพื่อเป็นการสานต่อและเพื่อเป็นการเปิดน่านน้ำใหม่ที่เรายังไม่เคยข้ามไปถึง ในปี 2025 หอศิลปกรุงเทพฯ จึงได้ตั้งเป้าหมายสำคัญ ที่มีนิยามจำกัดความว่า ‘Borderless’ หรือการลบข้อจำกัดของการแบ่งแยก การละเว้นขอบเขตและข้อจำกัดทั้งทางวัฒนธรรม หรือข้อกำหนดในการสร้างสรรค์ โดยมีหอศิลปกรุงเทพฯ เป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการส่งเสริมการเข้าถึงศิลปะ และการสร้างศิลปะแบบร่วมมือ
ว่าให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป้าหมายที่มีชื่อว่า Borderless นั้น มีเพื่อสนับสนุนการสร้างแนวคิดหรือการนำเสนองานของศิลปินแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะไทยหรือต่างชาติ ทั้งผลงานที่สามารถสะท้อนสังคม สร้างความจรรโลงใจ ส่งเสริมจินตนาการ ‘แบบไร้ขอบเขต’
และเพื่อตอบรับกับเป้าหมายดังกล่าว ในปีนี้จึงเป็นปีที่หอศิลปกรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรมน่าสนใจหลายต่อหลายงาน เริ่มกันตั้งแต่ช่วงต้นปี ระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน กับโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ ครั้งที่ 8 หรือ Early Years Project# 8 ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนและบ่มเพาะศิลปินหน้าใหม่ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานต่อเนื่องตลอด 8 ปี
ต่อมาในเดือนเมษายน-กรกฎาคม ทางหอศิลปกรุงเทพฯ ได้มีการร่วมมือกับหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน เพื่อจัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘The Shattered Worlds: Micro Narratives from the Ho Chi Minh Trail to the Great Steppe.’ หรือ ‘เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์’ เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งมูลนิธิ เจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อย้อนสำรวจและชวนผู้ชมร่วมรำลึกภูมิหลังของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงพิจารณาถึงศิลปะและวัฒนธรรมในบริบทสังคมและการเมืองที่เกิดจากสงครามเย็น ไล่เรียงตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 มาจนถึงปัจจุบัน
จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ที่จะมีการจัดงานเสวนาเรื่องการทำงานศิลปะชุมชนที่มีชื่อว่า NAN Scape Exchange Program ซึ่งนอกจากจะมีการจัดวงเสวนา ยังมีการการแสดงดนตรีและฉายภาพยนตร์สั้นอีกด้วย
และช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เราขอชวนโฟกัสไปที่ประเด็นทางสังคมกับนิทรรศการ ‘Local Networking’ ซึ่งนำเสนอการค้นคว้าและบันทึกเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยกลุ่มศิลปินท้องถิ่นจากหลายจังหวัด อาทิ สามจังหวัดชายแดนใต้ อุดรธานี อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สร้างเครือข่ายศิลปินอันเหนียวแน่น และสนับสนุนศิลปินชายขอบที่ต้องการโอกาสแสดงผลงานสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ตลอดกลางปีไปจนถึงปลายปี ยังมีโครงการศิลปะการแสดง P.A.P.#14 ซึ่งประกอบด้วย blurborders performance art eXchange ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนกรกฎาคม ต่อด้วย 3 โปรเจกต์การแสดงจากศิลปินสาขาศิลปะการแสดงที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการ PAP 2025 : Opencall ที่จะมานำเสนอผลงานศิลปะการแสดงภายใต้ธีม Borderless และปิดท้ายด้วยงานเทศกาลละครกรุงเทพฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน
และสุดท้าย คอลัมน์ Art and Neighboring ในปีนี้จะมีเนื้อหาที่เพิ่มมากขึ้น จากการร่วมคอลแลบกับ ‘Once’ สื่อออนไลน์ที่มีความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรม ที่จะมาร่วมเสิร์ฟคอนเทนต์สนุกๆ แก่เหล่าคนรักงานศิลปะ ผ่านช่องทางโซเชียลฯ ของหอศิลปกรุงเทพฯ
แน่นอนว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหอศิลปกรุงเทพฯ ในปี 2025 เพราะอย่างที่บอกว่า Borderless นั้นคือการข้ามผ่านขอบเขตเดิมๆ จึงมีอีกหลายเซอร์ไพรส์รออยู่
หวังว่าเราจะได้พบกันและได้มอบความสุขหรือแรงบันดาลใจดีๆ แก่ท่านผู้ชมกลับไป
information provided by event organizer